ประวิติความเป็นมา


 ประวัติความเป็นมา : นับจาก พ.ศ.2480 จนถึงปัจจุบัน รวมเวลา 74 ปี มหาวิทยาลัยได้เริ่มก่อตั้งจากโรงเรียนสวนสุนันทาวิทยาลัยและได้เปลี่ยนมาเป็นวิทยาลัยครูสวนสุนันทา จากนั้นในปี พ.ศ.2538 ได้รับสถาปนาเป็นสถาบันราชภัฎสวนสุนันทา เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2547 ได้มีประกาศใช้พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จึงเป็นคุณในมหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา โดยได้มีประวัติความเป็นมาในการบริหารการเรียนการสอนโดยลำดับดังนี้


          ก่อนปี พ.ศ.2491 วิทยาศาสตร์เป็นเพียงวิชาวิทยาศาสตร์ที่สอนในระดับประถมและมัธยมศึกษาจนถึงปี พ.ศ.2491 เริ่มมีฝ่ายฝึกหัดครูผลิตนักศึกษา ป.กศ.(ประกาศนียบัตรวิชาชีพการศึกษา) และ ป.กศ.สูง(ประกาศนียบัตรวิชาการศึกษาขั้นสูง) วิชาวิทยาศาสตร์เป็นกลุ่มวิชา ประกอบด้วยวิชาเคมี วิชาชีววิทยา วิชาฟิสิกส์และวิทยาศาสตร์ทั่วไป ปี พ.ศ.2501 ได้มีพระราชบัญญัติ พ.ศ.2501 เปลี่ยนจากโรงเรียนสวนสุนันทาวิทยาลัยเป็นโรงเรียนฝึกหัดครูสวนสุนันทา วิทยาศาสตร์จัดเป็น หมวดวิทยาศาสตร์ ซึ่งประกอบด้วย ภาควิชาเคมี ภาวิชาชีววิทยา ภาควิชาฟิสิกส์และวิทยาศาสตร์ทั่วไป


          ปี พ.ศ.2518 พระราชบัญญัติวิทยาลัยครู พ.ศ.2518 โรงเรียนฝึกหัดครูสวนสุนันทาเป็นสถาบันอุดมศึกษา จึงเปลี่ยนเป็นวิทยาลัยครูสวนสุนันทา หมวดวิทยาศาสตร์จัดเป็นคณะวิชาวิทยาศาสตร์มีการจัดตั้งศูนย์ส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้บริการอบรมครูประจำการวิชาวิทยาศาสตร์และเปิดสอนระดับปริญญาตรีสายครุศาสตร์ คณะวิชาวิทยาศาสตร์ ประกอบด้วย 9 ภาค คือ เคมี,ชีววิทยา,ฟิสิกส์และวิทยาศาสตร์ทั่วไป,คณิตศาสตร์,เกษตรศาสตร์,คหกรรมศาสตร์,อุตสาหกรรมศิลป์,สุขศึกษา และพลศึกษา


          ปี พ.ศ.2527 พระราชบัญญัติวิทยาลัยครู พ.ศ.2527 กำหนดให้วิทยาลัยครูเปิดสอนได้ 3 สาขา คือสาขาการศึกษา สาขาวิทยาศาสตร์ และสาขาศิลปศาสตร์ คณะวิชาวิทยาศาสาตร์ได้เปลี่ยนเป็น คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประกอบด้วย 9 ภาควิชา และ 2 โปรแกรม ได้แก่ ภาควิชาเกษตรศาสตร์ ภาควิชาคณิตศาสตร์และสถิติ ภาควิชาคหกรรมศาสตร์ ภาควิชาคอมพิวเตอร์ศึกษา ภาควิชาเคมี ภาควิชาชีววิทยา ภาควิชาฟิสิกส์และวิทยาศาสตร์ทั่วไป ภาควิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ ภาควิชาหัตถศาสตร์ศึกษาและอุตสาหกรรมศิลป์ โปรแกรมวิชาการพิมพ์และโปรแกรมวิชาเทคโนโลยีการอาหาร ปี พ.ศ.2530 คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดสอนระดับอนุปริญญา 5 หลักสูตรคือ คอมพิวเตอร์ การพิมพ์ เทคโนโลยีการเกษตร ก่อสร้าง และเคมีปฎิบัติ ในส่วนระดับปริญญาตรี สาขาครุศาสตร์ 6 หลักสูตร คือ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ทั่วไป คหกรรมศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ช่างอุตสาหกรรม สาขาวิทยาศาสตร์ 6 หลักสูตร คือวิทยาการคอมพิวเตอร์ คหกรรมศาสตร์ทั่วไป ออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร ชีววิทยาประยุกต์ และวิทยาศาสตร์สุขภาพ


          ปี พ.ศ. 2538 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อวิทยาลัยครูว่า สถาบันราชภัฎ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้เปิดสอน 2 สาขา คือ สาขาวิชาการศึกษา ที่เน้นด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ระดับปริญญาตรี 4 ปี ได้แก่ คณิตศาสตร์ คอมพิวเตอร์ศึกษา ฟิสิกส์วิทยาศาสตร์ทั่วไป ระดับปริญญาตรี 2 ปี (หลังอนุปริญญา) ได้แก่ คหกรรมศาสตร์ และสาขาวิทยาศาสตร์ ระดับปริญญาตรี 4 ปี ได้แก่ วิทยาการคอมพิวเตอร์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร คหกรรมศาสตร์ทั่วไป เคมี ฟิสิกส์ ชีววิทยาประยุกต์ สถิติประยุกต์ วิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม และวิทยาศาสตร์สุขภาพ


          ปี พ.ศ.2545 นักศึกษาสาขาวิชาการศึกษาได้ย้ายไปอยู่ในความรับผิดชอบของคณะครุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเปิดสอนเฉพาะสาขาวิทยาศาสตร์ ได้แก่ วิทยาการคอมพิวเตอร์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร คหกรรมศาสตร์ทั่วไป เคมี ฟิสิกส์ ชีววิทยาประยุกต์ สถิติประยุกต์ วิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม และวิทยาศาสตร์สุขภาพ


          เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2547 ได้มีประกาศใช้พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฎ สถาบันราชภัฎสวนสุนันทา จึงมีฐานะเป็นมหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา เพื่อทำหน้าที่เป็สถาบันอุดมศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ในปี พ.ศ.2548 คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดสอนในสาขาวิทยาศาสตร์ระดับปริญญาตรี 4 ปี ได้แก่ คหกรรมศาสตร์ทั่วไป วิทยาการคอมพิวเตอร์ เคมี ชีววิทยาประยุกต์ ฟิสิกส์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร วิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม สถิติประยุกต์ จุลชีววิทยา เทคโนโลยีสารสนเทศ สาขาการแพทย์แผนไทยประยุกต์ และสาขาอุตสาหกรรมการอาหารและการบริการ ปี พ.ศ.2549 เปิดสอนเพิ่มอีก 2 สาขา ได้แก่ สาขาวิชาเทคโนโลยีชีวิภาพ และคณิตศาสตร์สารสนเทศ ระดับปริญญาโท 2 สาขา ได้แก่ สาขาวิชาคณิตศาสตร์ศึกษาสารสนเทศ และสาขาวิชาการจัดการและควบคุมมลพิษ


          ในปี พ.ศ.2552 คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดสอนระดับปริญญาตรี 12 สาขาวิชา และระดับปริญญาโท 3 สาขา คือ สาขาวิชาคณิตศาสตร์ศึกษาสารสนเทศ,สาขาวิชาการจัดการและควบคุมมลพิษและสาขาวิชานิติวิทยาศาสตร์ และในปี พ.ศ.2554 คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้เปิดสอนระดับปริญญาตรี 16 สาขาวิชา คือ สาขาวิชาเคมี สาขาวิชาฟิสิกส์ประยุกต์ สาขาวิชาชีววิทยา สาขาวิชาจุลชีววิทยา อุตสาหกรรม สาขาวิชาสถิติประยุกต์ สาขาวิชาคณิตศาสตร์สารสนเทศ สาขาวิชาเทคโนโลยีชีวภาพ สาขาวิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม สาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร สาขาวิชาคหกรรมศาสตร์ สาขาวิชาอุตสาหกรรมอาหารและการบริการ สาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ สาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ สาขาวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ(ดูแลเด็กเล็กและผู้สูงอายุ) สาขาวิชาการแพทย์แผนไทยประยุกต์ และสาขาวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพและความงาม